เท้าความกันก่อน
ผมเริ่มฟังเพลงด้วยอุปกรณ์พกพาตั้งแต่สมัย ม.ต้น ปัญหาที่ประสบมาตลอดคือ ไม่ว่า player จะดีแค่ไหน สุดท้ายก็จะตกม้าตายที่หูฟังอยู่ดี สมัยนั้นหูฟังที่นิยมใช้กันก็จะเป็นแบบ earbud แบบหูฟัง iphone ทั่วๆไป ซึ่งใบหูของผมนั้นกว้างเกินไม่สามารถหนีบหูฟังแบบนี้ให้สนิทได้ เพียงแค่ขยับตัวนิดเดียว หูฟังก็แทบจะหลุดร่วงลงมาแล้ว และการที่มันไม่แนบไปกับรูหู ทำให้ได้ยินเสียงไม่ครบ โดยเฉพาะย่านต่ำ ทำให้ไม่ว่า player จะมีเบสมากเพียงใด สุดท้ายแล้วก็ไม่แทบไม่ได้สัมผัมความตึ้บอยู่ดี
ถึงแม้จะเปลี่ยนจาก earbud ไปเป็นแบบครอบหรือเกี่ยวหู ปัญหาก็ยังไม่จบ เพราะผมเองใส่แว่นมาตั้งแต่ ม.1 และไม่สะดวกในการใส่คอนแทคเลนส์ หูฟังแบบนี้จะหนีบระหว่างใบหูกับขาแว่น ใส่ได้ไม่นานก็เจ็บใบหูอยู่ดี
จนกระทั่งเมื่อประมาณ 6-7 ปีก่อน เริ่มมีหูฟังแบบ in ear ราคาไม่แพงขึ้นมาบนโลก จำได้ว่าหูฟัง in ear คู่แรกที่ผมใช้คือยี่ห้อ Creative EP630 ในตอนนั้นก็คิดว่า นี่แหละหูฟังที่เกิดมาเพื่อเรา แต่….มันยังไม่จบครับ คือว่า เจ้าหูฟังแบบนี้มันจะมีจุกยาง แล้วต้องยัดจุกยางเข้าไปในรูหู ปัญหาที่พบคือ หูฟังข้างซ้ายมันจะไหลหลุดอยู่ตลอดเวลา เพราะรูหูทั้งสองข้างของผม มันดันไม่เท่ากัน (ข้างซ้ายใหญ่กว่าข้างขวา) ถ้าใช้ขนาดจุกสองข้างไม่เท่ากัน มิติเสียงก็จะไม่เท่ากันอีก ถึงแม้จะลงทุนใช้จุก comply foam ปัญหาก็ยังไม่จบ เนื่องจากจุกแบบนี้จะทำให้คุณภาพต่ำลงไปพอสมควรตามอายุการใช้งาน แถมยังใช้ได้ไม่นาน (3-4 เดือน) ก็หมดสภาพต้องเปลี่ยนใหม่ (คู่นึงไม่ใช่ถูกๆ เกือบสองร้อยบาท) จึงไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมนัก
จากปัญหามากมายหลายหลากที่กล่าวมา ผมจึงเล็งไปที่ทางเลือกสุดท้าย นั่นคือลงทุนไปที่ Custom In Ear Monitor เลย
Custom In Ear คืออะไร
เวลา เราไปเห็นศิลปินกำลังแสดงบนเวทีแล้วเห็นนักร้องใส่หูฟังแบนๆ เป็นสีๆ สีครีมบ้าง แดงบ้าง น้ำเงินบ้าง ไม่มียี่ห้อบนหู และที่สำคัญหูฟังของเขาปิดรูหูจนหมด นั่นแหละครับคือ Custom Molded IEM กันซึ่งอุปกรณ์ภายในเหมือนกันกับ IEM ทั่วไปทั้งหมดแต่ตัวถังจะถูกออกแบบเฉพาะ โดย Custom Molded IEM นั้น เกิดจากเจ้าของหูฟังคู่นั้นไปอัดซิลิโคนพิมพ์หูมา ขั้นตอนคล้ายๆกันกับที่คุณไปดัดฟันแล้วเขาขอพิมพ์ฟันนั่นล่ะ แล้วส่งชิ้นงานที่พิมพ์ลักษณะทั้งหมดของใบหูเราไปที่โรงงานผู้ผลิตซึ่งใน ประเทศไทยยังไม่มีใครสามารถทำ Custom Molded IEM ได้ ส่วนยี่ห้อใหญ่ๆที่คนนิยมกันมักจะเป็น Sensaphonic, Ultimate Ears, Westone และยังมียี่ห้ออื่นๆจากหลายแหล่งกำเนิดโผล่ขึ้นมาอีกเป็นจำนวนมาก จุดเด่นของ Custom In Ear นั้นคือมันจะพอดีกับหูของเจ้าของเป๊ะๆ (แน่ล่ะเพราะพิมพ์มาจากหูของเจ้าของเองนินา) สามารถกันเสียงรอบข้างได้ดีมากๆ รวมถึงแทบไม่มีการสูญเสียคุณภาพเสียงเหมือน In Ear Monitor ทั่วไปที่ต้องใส่จุกแบบต่างๆด้วย
สรุปข้อดีข้อเสียของ Custom In Ear Monitor แบบคร่าวๆ
ข้อดี
- เสียงดี ยิ่ง Driver เยอะเสียงยิ่งดี (แน่นอนว่ายิ่งแพง)
- ใส่ได้พอดีเป๊ะๆ ไม่หลุดแม้ออกกำลังกาย
- กันเสียงรอบข้างได้สงัด
- สวย และดูแพง (เพราะมันแพงจริงๆ 555+)
ข้อเสีย
- แพงมาก เริ่มต้นที่หมื่นปลายๆ
- ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ถ้าทำตกพื้นแล้วแตก พังทันที ต้องส่งไป Remold ใหม่อีกหลายพัน
- ขั้นตอนกว่าจะได้เป็นเจ้าของค่อนข้างยุ่งยากและใช้เวลานาน (จะบอกในตอนต่อไป)
- ราคาขายต่อตกวูบ เพราะเจ้าของใหม่ต้องเผื่อเงินไป Remold ใหม่อีกหลายพันด้วย
- ไม่มีใครใส่ได้พอดีนอกจากเรา จึงไม่สามารถแบ่งปันให้คนอื่นใช้ได้
เริ้มต้นหาข้อมูลเพื่อเป็นเจ้าของ
หลังจากที่รู้ว่า Custom In Ear คืออะไร (ในที่นี้จะขอเรียก CIEM) ก็ลองหาข้อมูลดูว่า จะหามาเป็นเจ้าของได้อย่างไร อย่างที่บอกไปแล้วว่า CIEM ไม่เหมือนหูฟังทั่วไปที่ซื้อแล้วมาใช้ได้เลย ต้องสั่งทำให้พอดีกับหูเราเท่านั้น เท่าที่หาข้อมูลมาพักใหญ่ๆ ก็ทราบมาว่า ในไทยที่พอจะสั่งได้ มีอยู่หลายนี่ห้อพอสมควร ซึ่งผมก็ชั่งใจอยู่ 2 ยี่ห้อ ได้แก่ JH Audio และ Unique Melody ซึ่งสุดท้ายก็ตกลงปลงใจที่ Unique Melody เพราะผมเองมีหูฟัง Ultimate Ears Triple Fi.10 อยู่แล้ว ซึ่งสามารถส่งไป Remold เป็น CIEM ได้ น่าจะเป็นทางออกที่จ่ายเงินไม่มากนัก
ในตอนหน้าจะมาพูดถึงขั้นตอนการสั่งครับ