Cover เพลงลง Youtube ละเมิดลิขสิทธิ์เพลงหรือไม่ และ Cover อย่างไรให้ได้เงิน

23/09/2015 21:27 Blog

เมื่อช่วงที่ผ่านมามีประเด็นนึงที่พูดกันมากในกลุ่มนักดนตรีคือ การที่ค่ายเพลงดังค่ายนึงจะทำการเก็บค่าลิขสิทธิ์วงดนตรีที่เล่นตามร้านอาหาร หรืองาน Event เป็นรายปี และก็มีคำถามนึงที่ถามกันเยอะว่า

“แล้วพวกที่ Cover เพลงลง Youtube ล่ะ ไม่ผิดลิขสิทธิ์เหรอ”

คำตอบคือ ผิดครับ

ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้กล่าวไว้ดังนี้

มาตรา ๑๕ ภายใต้บังคับมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๔ เจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวดังต่อไปนี้
(๑) ทำซ้ำหรือดัดแปลง
(๒) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
(๓) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง
(๔) ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น
(๕) อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตาม (๑) (๒) หรือ (๓) โดยจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดหรือไม่ก็ได้ แต่เงื่อนไขดังกล่าวจะกำหนดในลักษณะที่เป็นการจำกัดการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรมไม่ได้

มาตรา ๒๗ การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๑๕ (๕) ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(๑) ทำซ้ำหรือดัดแปลง
(๒) เผยแพร่ต่อสาธารณชน

จะเห็นว่าการ Cover เพลงลง Youtube นั้น ละเมิดมาตรา 27 เต็มๆ เลยทีเดียว

แล้วทำไมเห็นมีเพลง Cover เต็ม Youtube ไปหมดเลยล่ะ

ถ้าเป็นสมัยก่อน เมื่อก่อนปี 2557 นั้น ใครที่ Cover เพลงจากค่ายใหญ่แถวอโศกลง Youtube จะโดนลบทิ้งเกือบหมด ซ้ำร้ายบางคนโดนแจ้งลบ 3 ครั้ง Channel ก็หายไปเลย (บาง Channel วิวเป็นล้านๆเลยนะครับ น่าเสียดายมาก) เพราะเค้าใช้สิทธิการเป็นเจ้าของในการจัดการครับ

พอมี Youtube Thailand อะไรๆก็เปลี่ยนไป

ตั้งแต่มีการเปิดตัว Youtube Thailand เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลักๆเลยคือ การที่ Youtube สามารถสร้างรายได้จากการโฆษณา โดยที่เจ้าของค่ายเพลงจะมีสิทธิอย่างนึงที่เรียกว่า Content ID ที่นอกจากจะสามารถแจ้งลบเพลงที่ละเมิดลิขสิทธิ์ได้แล้ว (ทั้งในกรณีที่ใช้เพลงต้นฉบับทั้งดุ้น ใช้แค่บางส่วน หรือนำมา Cover ใหม่) ก็ยังสามารถทำให้วิดีโอที่ละเมิดลิขสิทธิ์ สร้างรายได้ให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยที่คนทำ Cover ไม่ได้เงินเลยซักกะบาทเดียวครับ

ซึ่งพอเป็นอย่างนี้ เลยถือว่า win-win ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ฝั่งเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ได้เงินจากโฆษณาใน Youtube ได้เผยแพร่เพลง ฝั่งเจ้าของ Channel ที่ทำ Cover ก็ได้ยอดวิว, subscribe และชื่อเสียงที่นำไปต่อยอดอะไรได้อีกมากมาย มีศิลปินที่ดังจากการเป็นคนทำ Cover ใน Youtube มากมาย เช่น พลอยชมพู, เอิ๊ด ภัทรวี, 38 Year Ago เป็นต้นครับ

แต่…ก็ยังมีบางค่าย ที่ยังมีการแจ้งลบวิดีโอเพลง Cover นะครับ ช่วงที่ผ่านมา มีเจ้าของลิขสิทธิ์วงดนตรีวงนึง ที่ชื่อเพลงมักจะไม่ค่อยเกี่ยวกับเนื้อหาเพลงเท่าไหร่ ได้ไล่ลบเพลง Cover ที่เปิดสร้างรายได้ ถึงแม้ทาง Youtube Thailand จะช่วยเข้าไปไกล่เกลี่ย แต่เจ้าของลิขสิทธิ์ก็ยังไม่ยอม ซึ่งถ้าว่าตามหลัก มันก็เป็นสิทธิของเรา แต่…ใจร้ายจังนะครับแบบนี้

ความเห็นส่วนตัว : ผมว่าเรื่องนี้ค่ายเพลงใหญ่ในไทยใจร้ายไปหน่อย คือถ้าเป็นเมืองนอกเนี่ย เพลง Cover ที่ลง Youtube รายได้จากโฆษณาจะถูกแบ่งไปให้ค่าย แล้วเราจะได้รับประมาณ 1 ใน 3 (ยังดีกว่าไม่ได้เลยซักกะบาทแบบในไทย) รวมถึง สามารถขายเพลง Cover ใน iTunes ได้ด้วยนะ หวังว่าในไทยจะทำได้เร็วๆนี้นะครับ

แล้วจะทำ Cover ยังไงให้ได้เงินล่ะ

  • Cover เพลงสากล หรือเพลงไทยของค่ายเล็กๆ ส่วนใหญ่จะไม่โดนปิดการสร้างรายได้ หรืออาจจะโดนแบ่งรายได้ ซึ่งก็ยังพอจะได้เงินอยู่
  • ใช้ Youtube เป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ตัวเอง หรือเป็น Portfolio หลายๆคนจะได้เงินจากโฆษณาที่มีคนติดต่อมาขอลงในช่องของเรา, การจ้างงาน ไปเล่นดนตรีงาน Event งานแต่งงาน, งานโษณาอื่นๆ เป็นต้น
  • แต่งเพลงเองเลย อันนี้ได้เต็มๆแน่นอน (ถ้าเป็นศิลปินอิสระ) หลายๆคนที่ดังจากการ Cover ก็เป็นศิลปินเต็มตัวมีเพลงของตัวเอง เช่น 38 Years Ago, Chilling Sunday เป็นต้น (บางวงผมว่าพอมีเพลงของตัวเอง น่าฟังกว่าตอนทำ Cover อีกครับ)

จะเห็นว่า การเป็นศิลปิน Cover ในไทยนี่จะลำบากกว่าต่างประเทศพอสมควร เพราะเรื่องนี้ยังถือเป็นเรื่องใหม่ในไทย หวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เอื้อประโยชน์กับทางฝั่งศิลปิน Cover มากกว่านี้ครับ

No Comments

(Required)
(Required, will not be published)

This blog is kept spam free by WP-SpamFree.