อุปสรรคสำคัญ สำหรับผู้ที่เรียนดนตรีในวัยทำงาน

มีผู้ใหญ่ (หรือวัยรุ่นตอนปลาย) วัยทำงานหลายๆคน ที่มีความสนใจอยากจะเล่นดนตรี ไม่ว่าจะเพื่อความเพลิดเพลิน หรือสานฝันที่เคยมีในวัยเด็กก็ตาม แต่หลายๆคนก็มักจะหยุดเล่นไปก่อนที่จะถึงฝันที่ตั้งเอาไว้ เป็นเพราะอะไรบ้าง ผมแบ่งออกเป็น 2 ข้อใหญ่ๆครับ

1. มีความคาดหวังมากเกินไป

ผู้ใหญ่ที่เรียนดนตรี จะต่างกับเด็กๆตรงที่ เด็กๆเค้าจะเรียนโดยที่ไม่ได้สนใจนักดนตรีคนอื่นเท่าไหร่ นอกจากครูผู้สอน และนักเรียนคนอื่นๆในสถาบัน (หรือญาติพี่น้องที่เล่นดนตรีเหมือนๆกัน) เค้าจึงไม่มีข้อเปรียบเทียบทางฝีมือของตัวเองเท่าไหร่ ครูจะสอนให้เล่นอะไรเค้าก็จะรับรู้และทำตามที่ครูสอนได้ ต่างกับผู้ใหญ่ ที่มักจะเห็นนักดนตรีเก่งๆมามาก แล้วมีความฝันอยากจะเล่นได้อย่างเค้า โดยที่ไม่ทราบมาก่อนว่า กว่าจะเก่งได้ขนาดนั้น นักดนตรีจะต้องใช้เวลาฝึกซ้อมมายาวนานขนาดไหน และต้องผ่านบทเรียนดนตรีอะไรมาบ้าง พอเริ่มหัดเล่นไปได้ซํกพักก็จะเกิดอาการท้อ และเลิกเล่นไปในที่สุด

2. คิดเอาว่าไม่มีเวลาซ้อม

ดนตรีเป็นศิลปะ ซึ่งแตกต่างจากการเรียนรู้ในทางวิชาการ กล่าวคือ สมมติว่าคุณเรียนวิชาอะไรซักวิชานึงสมัยมัธยม ถึงแม้จะไม่ได้ตั้งใจเรียนหรือสนใจทำการบ้านเท่าไหร่ ก่อนสอบไม่กี่วันถ้าคุณทุ่มเทอ่านหนังสือวันละหลายๆชั่วโมงก็ยังพอจะทำข้อสอบให้ผ่านไปได้ แต่ดนตรีต่างจากนั้น ถ้าคุณไม่ซ้อมมันทุกๆวันอย่างต่อเนื่อง ไม่มีทางที่คุณจะหัดเล่นอย่างเอาเป็นเอาตายในเวลาแค่วันสองวันแล้วจะเล่นให้ออกมาดีได้ และสำหรับวัยทำงานด้วยแล้ว การแบ่งเวลาซ้อมให้ได้ทุกๆวันจะเป็นเรื่องยาก เพราะกว่าจะกลับมาถึงบ้านก็หมดแรงจะซ้อมแล้ว แต่ถ้าเราลองดูจริงๆ ในแต่ละวันหลังจากกลับมาบ้าน เราเสียเวลาไปกับเรื่องอะไรบ้าง (เช่น เล่น facebook) ลองลดเวลาสำหรับเรื่องเหล่านั้น แล้วมาซ้อมเปียโนอย่างน้อยๆวันละ 15-30 นาทีให้ได้ทุกๆวันดูครับ

สรุปว่า การเรียนดนตรีในวัยทำงานนั้น อุปสรรค์ไม่ได้อยู่ที่วัยอย่างเดียว แต่อยู่ที่เหตุหลักๆ 2 ข้อข้างต้น ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มเรียนดนตรี ต้องมีความพยายาม ให้มากกว่าหรือเท่าๆกับความอยากเสียก่อน ไม่มีใครที่เก่งได้โดยที่ไม่ซ้อม และไม่มีใครที่เป็นมืออาชีพได้โดยเล่นแต่เพลงที่อยากเล่นครับ

No Comments

(Required)
(Required, will not be published)

This blog is kept spam free by WP-SpamFree.